กรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรม
- การนำเข้าพืชที่ดัดแปลงพันธุกรรม
- ขั้นตอนการนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรม
- ผู้ประสงค์นำเข้ายื่นแบบขออนุญาตนำเข้าสิ่งต้องห้าม ( แบบ พ . ก .1) พร้อมหลักฐานตามประกาศกรมวิชาการเกษตร
เรื่อง “ กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านซึ่ง สิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ที่แก้ไขแล้ว ( ฉบับที่ 3)
พ.ศ .2544” ณ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
- พนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ร่วมดำเนินการตรวจสอบเอกสาร หลักฐานประกอบคำขออนุญาตนำเข้า ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตนำเข้าฯ ว่าครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่
- กรมวิชาการเกษตรแต่งตั้งกรรมการ 2 ท่าน ในคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญอีก 3 ท่าน ตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลด้านวิชาการ พร้อมสรุปข้อคิดเห็นว่าสมควรอนุญาตให้นำเข้าหรือไม่ เพราะเหตุใด
- คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร พิจารณา ความเห็นและข้อสรุปของกรรมการที่ได้รับมอบหมาย เพื่อนำเสนออธิบดีกรมวิชาการเกษตร
- อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามในหนังสืออนุญาตนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นสิ่งต้องห้าม (แบบพ.ก.2) พร้อมเงื่อนไขการนำเข้าซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร และดำเนินการโดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

ภาพ 1 แผนภูมิขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าพืชที่ได้รับการตัดต่อสารพันธุกรรม

ภาพ 2 แบบพ.ก.1 คำขออนุญาตนำสิ่งต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507

ภาพ 3 แบบ พ.ก. 2 ใบอนุญาตนำเข้าสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507
- ขั้นตอนการนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรม ( ได้รับอนุญาตแล้ว )
ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตนำเข้าจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
- ต้องแจ้งกำหนดการนำเข้าก่อนการนำเข้า 60 วัน
- ต้องระบุด่านที่จะนำเข้า - นำเข้าได้ 3 ด่านเท่านั้น คือ ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) และด่านตรวจพืชไปรษณีย์กลาง
- ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชของเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ส่งสิ่งต้องห้ามนั้น กำกับมาด้วย และในใบรับรองปลอดศัตรูพืชต้องระบุด้วยว่า จุลินทรีย์ที่ใช้ในการดัดแปลงพันธุกรรมได้หมดสภาพการเป็นเชื้อสาเหตุของโรคพืชแล้ว ในกรณีที่ใช้จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อสาเหตุของโรคพืชในกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม
- ที่หีบห่อสิ่งต้องห้าม ต้องมีบัตรอนุญาตนำเข้าของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ( แบบ พ.ก.3)
- ต้องส่งสิ่งต้องห้ามโดยตรงถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หรือส่งมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืชที่นำเข้ามาด้วยตนเอง

ภาพ 4 แบบ พ.ก. 3 บัตรอนุญาตนำเข้า
- การศึกษาทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม
- ขั้นตอนการศึกษาทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม
- ผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นสิ่งต้องห้าม จากกรมวิชาการเกษตร เสนอแผนการทดลองในโรงเรือน และ / หรือ ห้องปฏิบัติการ ในแปลงทดลอง ให้คณะทำงานตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพภาคสนาม (ของแต่ละชนิดพืช) ของกรมวิชาการเกษตร พิจารณาให้ความเห็นชอบ เกี่ยวกับการศึกษาทดลอง ซึ่งอาจเป็นการศึกษาและการนำเข้าซ้ำอีก
- คณะทำงานตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพภาคสนาม (ของแต่ละชนิดพืช) ติดตามตรวจสอบ ให้คำแนะนำด้านการจัดการทดลอง และประมวลรายงานสรุปผลการดำเนินงาน เสนอต่อคณะอนุกรรมการประเมินผลและวิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ
- คณะอนุกรรมการประเมินผลและวิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เสนอความเห็นต่อกรมวิชาการเกษตร ผ่านคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร
- กรมวิชาการเกษตรพิจารณารายงานสรุปผลการตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยง หากเห็นว่าพืชชนิดนั้นมีความปลอดภัยทางชีวภาพเพียงพอเสนอความเห็นต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านคณะกรรมการกักพืช เพื่อยกเลิกพืชชนิดนั้นๆ จากการเป็นสิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ . ศ . 2507 และที่แก้ไขแล้ว ในกรณีที่พิจารณาจะให้ปลดปล่อยสู่สภาพแวดล้อม ให้ปลูกเป็นการค้าได้ โดยอาจมีมาตรการต่างๆ กำกับดูแล และติดตามต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านผลกระทบ (ต่อสิ่งแวดล้อม) และความปลอดภัยทางชีวภาพในระยะยาว
- การทดสอบเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพของพืช
การวิจัยและทดสอบ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพของพืช และจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม อาจแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวิจัยและทดสอบในโรงเรือนเพาะเลี้ยงพืช และ/หรือ ห้องปฏิบัติการ
พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ต้องได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรก่อน จึงจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ โดยต้องทำการปลูกและเพาะเลี้ยงพืชเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ทางชีวภาพว่า จะไม่มีผลในทางลบต่อทรัพยากรชีวภาพ มนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ภายในโรงเรือนปลูกและเพาะเลี้ยงพืชที่เหมาะสมกับระดับ ความปลอดภัย(biosafety levels) อย่างน้อย 1 ฤดูปลูก(cropping season) หากจากผลการตรวจสอบ ปรากฏว่ามีความปลอดภัยทางชีวภาพไม่น้อยกว่าเงื่อนไขที่กำหนด จึงจะอนุญาตให้ทำการทดลองในขั้นตอนต่อไป หรือการนำไปใช้เพื่อการวิจัยอื่นๆ
ขั้นตอนที่ 2 การวิจัยและทดสอบในแปลงทดลองภาคสนามขนาดเล็ก
เมื่อพืชดัดแปลงพันธุกรรม ผ่านการศึกษาทดลองในห้องปฏิบัติการ และ/หรือ ในโรงเรือนปลูกและเพาะเลี้ยงพืช และคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตรหรือคณะกรรมการฯ ระดับสถาบันได้พิจาณาแล้วเห็นสมควรอนุญาต ให้ดำเนินการทดลองในขั้นตอนต่อไป จึงจะเริ่มการทดลองในแปลง ทดลองภาคสนามได้ การทดลองในขั้นตอนนี้ ต้องดำเนินการไม่น้อยกว่าหนึ่งฤดูปลูก
ขั้นตอนที่ 3 การวิจัยและทดสอบในภาคสนามขนาดใหญ่เพื่อการผลิตทางการเกษตร
เมื่อได้ผ่านการทดลองในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 แล้ว หากมีความประสงค์ที่จะนำพืชที่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพไปทดสอบในระดับที่ใหญ่ขึ้นเพื่อการผลิตทางการเกษตร ต้องดำเนินการศึกษาทดลองในสภาพภาคสนามที่เป็นการผลิตทางการเกษตรก่อน ซึ่งการทดลองในขั้นตอนนี้ ต้องดำเนินการไม่น้อยกว่า 2 ท้องที่ หรือ 2 ฤดูปลุก เพื่อเป็นการศึกษาในสภาพพื้นที่ที่มีบริเวณกว้างขวางขึ้นs
ทั้งนี้ การดำเนินงานทดลองจะเริ่มดำเนินงานจากขั้นตอนใดนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เสนอให้กับคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หรือคณะกรรมการ ระดับสถาบันพิจารณาและแนะนำ
อ้างอิง สำนักงานนโยบายและและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2550. รายงานกรอบงานแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย.
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ. 150 หน้า.