กรณีพืชดัดแปลงพันธุกรรม

ภายใต้พระราชบัญญัติกักพืช พ . ศ. 2507 กรมวิชาการเกษตรได้มีมาตรการและกฎระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเมื่อนำเข้า โดยออกประกาศ กรมวิชาการเกษตรเรื่อง “ การนำเมล็ดพันธุ์พืชเข้ามาในราชอาณาจักร ” ลงวันที่7 มกราคม พ.ศ. 2543 และ เรื่อง “ การนำส่วนขยายพันธุ์พืชรวมทั้งเมล็ดพันธุ์เข้ามาในราชอาณาจักร ” ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

  • การนำเมล็ดพันธุ์พืชเข้ามาในราชอาณาจักร ให้แนบหนังสือรับรองจากประเทศ ผู้ส่งออก ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มิใช่พืชที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม
  • การนำส่วนขยายพันธุ์พืชรวมทั้งเมล็ดพันธุ์เข้ามาในราชอาณาจักร ให้แนบหนังสือรับรองจากประเทศผู้ส่งออก ว่าเป็นส่วนขยายพันธุ์พืชที่มิใช่พืชที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม

ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรการให้เกิดความร่วมมือจากผู้ประกอบการ นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ให้เกิดความสะดวกใน การตรวจสอบ / การนำเข้า ลดความล่าช้า เสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุม กำกับ ดูแล

  • กรณีมีหนังสือรับรองแนบ จะทำการสุ่มตัวอย่างพืชเพื่อตรวจสอบโดยใช้เทคนิคทางเทคโนโลยีชีวภาพตรวจสอบว่าเป็น สินค้าที่มิได้ดัดแปลงพันธุกรรมจริง ใช้เวลาตรวจสอบ 15 วันทำการรวมทั้งการตรวจสอบศัตรูพืชอื่นๆ ด้วย
  • กรณีไม่มีหนังสือรับรองแนบ และเป็นพืชที่มาจากแหล่งที่มีรายงานว่า มีการพัฒนาพันธุ์พืชโดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม จะทำการตรวจทุกตัวอย่าง และพืชจะถูกกักจนกว่าจะทราบผลการตรวจสอบ
  • กรณีไม่มีหนังสือรับรองแนบ แต่เป็นพืชที่ไม่มีรายงานในต่างประเทศว่ามีการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เทคนิคทาง พันธุวิศวกรรม จะทำการสุ่มตรวจตัวอย่างพืช

กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “ กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้นและเงื่อนไข ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ . ศ . 2507” ลงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2543 ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ . ) โดยให้ถั่วเหลืองและข้าวโพด ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ / มนุษย์ หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม เป็นข้อยกเว้นและเงื่อนไข ตามพระราชบัญญัติกักพืชฯ จำนวน 40 รายการ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “ กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไข ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2546 ” ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เพิ่มเติมรายชื่อสิ่งต้องห้ามอีก 49 รายการ รวมเป็นพืชต้องห้ามทั้งหมด 89 รายการ

ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง “ กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตนำเข้าหรือนำผ่าน ซึ่งสิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกัก พืช พ . ศ . 2507 ที่แก้ไขแล้ว (ฉบับที่ 3) พ . ศ . 2544” ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2544 เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขการศึกษา ทดสอบ ตรวจสอบ และมาตรการป้องกันและควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็น 3 ขั้นตอน คือ

  • การศึกษาทดลองในโรงเรือน และ / หรือ ห้องปฏิบัติการ
  • การศึกษาทดลองในแปลงทดลอง
  • การศึกษาทดลองในสภาพไร่

นอกจากนี้ เพื่อให้การควบคุมเป็นไปอย่างเข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้นและสามารถเกิดความมั่นใจต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ ในการทดสอบแต่ละขั้นตอน กรมวิชาการเกษตรได้แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับ ดูแล ตลอดทุกขั้นตอนการดำเนินงาน

ในการนำเข้าฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานหนอนเจาะสมอฝ้ายที่มียีนสร้างสารพิษ (toxin) จากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ( Bt ) ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการศึกษาข้อมูลจากเอกสารในประเทศสหรัฐอเมริกามากมาย แต่ก็มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อผึ้ง จึงได้มีการศึกษาผลกระทบต่อผึ้ง และแตนเบียนหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเป็นแมลงที่เป็นประโยชน์ ในด้านการผสมละอองเกสรและให้อาหาร และการป้องกันกำจัดศัตรูตามธรรมชาติโดยใช้แตนเบียนซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของหนอนเจาะสมอฝ้าย ร่วมไปกับการทดสอบด้าน efficacy หรือการทำลายฝ้ายของหนอนเจาะสมอฝ้าย จากนั้น จึงมีการอนุญาตให้นำเข้าให้ทดสอบประสิทธิภาพในการให้ผลผลิต ร่วมกับการศึกษาผลกระทบต่อแมงมุมและแมลงศัตรูอื่นในแปลงปลูกตามธรรมชาติ โดยไม่มีการพ่นสารเคมีกำจัดแมลงปากกัด ซึ่งปรากฏว่า สารพิษในฝ้ายบีทีมีความจำเพาะเจาะจงในการทำลายหนอนเจาะสมอฝ้ายและหนอนเจาะสมอฝ้ายสีชมพูอย่างเด่นชัด และมีผลกระทบต่อหนอนม้วนใบและหนอนคืบด้วย แต่ม่มีผลต่อหนอนกระทู้และอื่นๆ เช่น แมงมุม เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น แมลงเต่าลายซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยอ่อน ให้ผลผลิตดีเป็นที่น่าพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับฝ้ายธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการระบาดของหนอนเจาะสมอฝ้ายมาก

ตารางที่ 1 ปริมาณแมลงต่อ 5 ต้น ตลอดฤดูเพาะปลูกทดลองฝ้ายต้านทานหนอน ที่สถานีทดลองพืชไร่ บ้านใหม่สำโรง จังหวัดนครราชสีมา ในฤดูฝนปี พ.ศ. 2540 (ปลูกวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) โดยเฉลี่ย

ตารางที่ 2 ปริมาณแมลงต่อ 5 ต้น ตลอดฤดูเพาะปลูกทดลองฝ้ายต้านทานหนอน ที่สถานีทดลองพืชไร่บ้านใหม่สำโรง จังหวัดนครราชสีมา ในฤดูฝนปี พ.ศ. 2540 ( ปลูกวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540) แมลง /สัตว์ที่เป็นประโยชน

ภาพ 1 ผลการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ ของฝ้ายบีท

กรณีสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม

ปัจจุบันทางด้านปศุสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically modified animals) กรมปศุสัตว์ยังไม่มีกฎระเบียบเฉพาะเรื่องเพื่อการตรวจสอบเช่นเดียวกับกรมประมง ที่ยังไม่มีกฎระเบียบเฉพาะเรื่องในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์สัตว์น้ำ และพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการระบุชื่อที่อนุญาตให้นำเข้าเมื่อผู้นำเข้าได้นำสัตว์น้ำตามที่ได้รับอนุญาตเข้ามาแล้ว จะต้องมีการควบคุมดูแลสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างไร

ในทางปฏิบัติขณะนี้ กรมประมงได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยทางชีวภาพให้มีหน้าที่ในการกำหนดแนวทางในการควบคุมกำกับ และดูแลการปฏิบัติงาน ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำหรือพืชน้ำดัดแปลงพันธุกรรม กำกับดูแลการอนุญาตนำเข้า ส่งออก และส่งผ่านสัตว์น้ำและพืชน้ำดัดแปลงพันธุกรรม และสัตว์น้ำและพืชน้ำต่างถิ่น รวมถึงการติดตามตรวจสอบ และให้คำแนะนำหรือแก้ปัญหา เมื่อมีการนำเข้าสัตว์น้ำหรือพืชน้ำที่เป็นอันตรายหรือสงสัยว่าจะเป็นอันตราย

ในการอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือพืชน้ำดัดแปลงพันธุกรรมทุกครั้ง คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ จะกำหนดเงื่อนไขในการตรวจติดตามให้กับผู้นำเข้าถือปฏิบัติไว้ด้วยโดยผู้นำเข้าจะต้องยึดถือและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้สามารถ ติดตามตรวจสอบได้ในภายหลังว่าผู้นำเข้าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่

กรณีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหาร

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองควบคุมอาหารและกองงานด่านอาหารและยา ควบคุมกำกับดูแลอาหารที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายภายใต้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการที่ถูกต้องเหมาะสมกับตนเอง โดยมีมาตรการที่สำคัญในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย

  • การควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารหลังออกสู่ท้องตลาด หลังจากผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านการควบคุมพนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจสถานที่ผลิต นำเข้าหรือสถานที่ จำหน่ายทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อประเมินสถานที่ผลิตสถานที่นำเข้า รวมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหาร (LMO-FFPs) จากสถานที่ต่างๆ โดยวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและศึกษาข้อมูลต่างๆ ของผลิตภัณฑ์สิ่งมีชีวิต ดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหาร ซึ่งจำหน่ายในประเทศโดยผ่านด่านอาหารและยา และจากการเก็บตัวอย่างตามสถานที่จำหน่ายในปีที่ผ่านมาประกอบการ ดำเนินการ
  • ด้านอาหารและยา สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหาร ซึ่งมีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ด่านอาหารและยาซึ่งมีอยู่รวม 35 แห่ง ทั่วประเทศ มีหน้าที่ตรวจสอบติดตามและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหาร ซึ่งนำเข้ามาเพื่อตรวจสอบสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งผ่านด่านทุกแห่งโดยสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหารส่งวิเคราะห์ และพิจารณาความถูกต้องของฉลากตามกฎหมาย หากเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่แปรรูปเป็นอาหารซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หรือการแสดงฉลากไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนดก็จะระงับ การนำเข้าผลิตภัณฑ์ นั้นก่อน จากนั้นก็จะประสานงานกับกองควบคุมอาหาร เพื่อประสานข้อมูลจากการปฏิบัติงานที่ด่านอาหารและยาด้วย

ด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะตรวจสอบสื่อทุกชนิด เช่น หนังสือพิมพ์โทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร ต่างๆ เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการโฆษณาที่เกินจริงหรือเป็นไปในทางอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุมัติไว้ โดยใช้อำนาจทางกฎหมายระงับการโฆษณา และดำเนินการทางคดีกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายพร้อมทั้งประกาศผลวิเคราะห์หรือผลการดำเนินคดีให้สาธารณชนทราบทุกครั้ง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ โดยกำกับดูแลผลการปฏิบัติงานเพื่อจะได้นำข้อมูลจากการติดตามตรวจสอบมาเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงนำมาวางแผนการทำวิจัยการให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ให้ผู้ประกอบการ/ผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและสนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ สร้างสรรค์งานทางด้านสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ให้กับสังคม สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรมที่จำหน่ายในท้องตลาด เจ้าหน้าที่สามารถเก็บตัวอย่างอาหาร และส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของประเทศ ซึ่งขณะนี้มีอยู่สี่แห่ง ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะได้นำมาประมวล พิจารณาเพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูล ในการวางแผนกิจกรรมต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาด้านกฎหมายและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

อ้างอิง สำนักงานนโยบายและและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2550. รายงานกรอบงานแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ. 150 หน้า.