การควบคุมผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ท้องตลาด

ผู้ประกอบการที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหารภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545 คือ ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย ตามรายการอาหาร รวม 22 รายการ ที่ระบุไว้ในท้ายประกาศฯ ฉบับดังกล่าว ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาแล้วว่าอาหารนั้นๆ เป็นอาหารดัดแปลงพันธุกรรม ตามที่กฎหมายประกาศกำหนดสามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือจดทะเบียนอาหาร หรือจดแจ้งอาหาร หรือขอฉลาก หรือขอแก้ไขทะเบียนตำรับ หรือขอแก้ไขฉลาก ตามกลุ่มของประเภทอาหารต่างๆ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตแล้ว และผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตามที่สรุปไว้ในตาราง ดังนี้

ตาราง 1 การปฏิบัติหรือดำเนินการเกี่ยวกับอาหาร

สถานะประเภทอาหารเดิม สถานะประเภทอาหารเมื่อทราบว่าเป็นอาหารดัดแปลงพันธุกรรม การดำเนินการ
กลุ่มที่ 1 อาหารควบคุมเฉพาะ กลุ่มที่ 1 อาหารควบคุมเฉพาะ รายเดิม-ยื่นแบบ อ. 19
รายใหม่-ยื่นแบบ อ. 17
กลุ่มที่ 2 อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กลุ่มที่ 2 อาหารกำหนดคุณภาพ หรือ มาตรฐาน รายเดิม-ยื่นแบบ สบ. 5/6
รายใหม่-ยื่นแบบ สบ. 5
กลุ่มที่ 3 อาหารที่ต้องมีฉลาก กลุ่มที่ 3 อาหารที่ต้องมีฉลาก รายเดิม-ยื่นแบบ สบ. 5/6
รายใหม่-ยื่นแบบ สบ. 5
กลุ่มที่ 4 อาหารทั่วไป ต้องปรับเปลี่ยนสถานะเป็นกลุ่มที่ 3 ตามประกาศฯ (ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545 ยื่นแบบ สบ. 5 และ
ปฏิบัติเหมือนกลุ่มที่ 3

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545
เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม

การแสดงฉลากอาหารดัดแปลงพันธุกรรม

เพื่อป้องกันผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้ข้อมูลของอาหารว่าเป็นหรือมีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ รวมถึงเพื่อเป็นการให้้ข้อมูลต่อ ผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารที่ได้มาจาก เทคนิค การดัดแปลงพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 6 แห่ง พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม โดยกำหนดให้ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เป็นอาหารที่ต้องมีฉลากอาหารที่เป็นถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดดังกล่าวนั้น ให้เป็นไปตาม รายชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ โดยหมายความเฉพาะที่มีสารพันธุกรรม ( DNA ) หรือโปรตีน ที่เป็นผลมาจากการดัดแปลงพันธุกรรมนั้นอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบ ที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และแต่ละส่วนประกอบดังกล่าวนั้น มีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ โดยการแสดงฉลาก นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการแสดงข้อความ “ ดัดแปรพันธุกรรม ” ในส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก ของอาหารที่เป็นถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดไว้ท้าย หรือใต้ชื่อส่วนประกอบนั้นๆ ตามแต่กรณี เช่น ข้อความว่า “ แป้งข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม ” โดยการแสดงข้อความต่างๆ นั้น ต้องแสดงด้วยตัวอักษรที่อ่านได้ชัดเจนมีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก อย่างไรก็ตามข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องฉลากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ใช้บังคับกับ “ ผู้ผลิตรายย่อย ” ซึ่งหมายถึง ผู้ผลิตขนาดเล็กที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงในวงแคบ และผู้ผลิตสามารถ ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหารตามประกาศนี้ ได้มีการกำหนดห้ามใช้ข้อความว่า “ ปลอดอาหารดัดแปร พันธุกรรม ” หรือ “ ไม่ใช่อาหารดัดแปรพันธุกรรม ” หรือ “ ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ” หรือ “ มีการคัดหรือแยกส่วนประกอบที่มีการดัดแปร พันธุกรรมออก ” หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน

อ้างอิง สำนักงานนโยบายและและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2550. รายงานกรอบงานแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ. 150 หน้า.