ในอดีตมนุษย์เริ่มนำพันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการมาผสมเข้าด้วยกัน เพื่อพยายามดึงเอาพันธุกรรมที่เป็นตัวควบคุมลักษณะต่างๆ ที่ต้องการ เข้ามาไว้ด้วยกันในลูก เพื่อให้ลูกที่ได้มีลักษณะที่ดีของทั้งพันธุ์พ่อและแม่ซึ่งเป็นกฏเกณฑ์ของการสืบทอดพันธุกรรมโดยใช้เพศ โดยที่พันธุ์พ่อและพันธุ์แม่จะแบ่งสารพันธุกรรมครึ่งหนึ่งของตนส่งไปให้ลูกแบบสุ่ม โดยไม่มีการคัดเลือกว่าจะเอาลักษณะใดส่งไปให้ลูกเป็นการเฉพาะ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกันมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ยกเว้นเป็นฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกัน
![]() |
![]() |
ด้วยกฏเกณฑ์ของธรรมชาติดังกล่าว การปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตเพื่อทำการเกษตร โดยการผสมพันธุ์พ่อและพันธุ์แม่แบบใช้เพศ จึงต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะได้ลักษณะที่ต้องการทั้งจากพ่อและแม่มารวมใว้ด้วยกันในรุ่นลูก
ความพยายามในการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต ยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ แต่เนื่องด้วยปัญหาในการเพาะปลูก อาทิเช่น การระบาดของโรค และแมลง สภาพภูมิอากาศแปรปรวนการเสื่อมคุณภาพของดินที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการปรับปรุงพันธเพื่อให้ได้พันธุ์พืชและสัตว์ที่สามารถรับมือได้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน
จนกระทั่งได้มี การค้นพบว่าในธรรมชาติมีการส่งถ่ายพันธุกรรมโดยไม่ต้องใช้เพศ ซึ่งหมายความว่าการส่งถ่ายพันธุกรรมในธรรมชาติ สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการผสมแบบใช้เพศ เช่น ไวรัสส่งถ่ายสารพันธุกรรมของตนเข้าไปในพืชหรือสัตว์ เพื่อเพิ่มจำนวนลูกหลานไวรัสในพืชและสัตว์์เหล่านั้น หรือแบคทีเรียในดินชนิดหนึ่งสามารถตัดสารพันธุกรรมบางส่วนของตนเอง และส่งเข้าไปในพืชเพื่อไปต่อเข้ากับสารพันธุกรรมของพืช เพื่อทำให้พืชสร้างสารอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียความรู้จากการพบกุญแจสำคัญดอกนี้ ถูกนำไปประยุกต์ใช้และก่อให้เกิดการยกระดับวิธีการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์พืช ทำให้การถ่ายทอดพันธุกรรมเป็นไปอย่างจำเพาะเจาะจง การปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีใหม่ที่เราเพิ่งจะเรียนรู้มาจากธรรมชาติ จะไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงเฉพาะสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกัน แต่ยังสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์กันได้อีกด้วย (เพราะไม่ต้องอาศัยการใช้เพศ)
ดังนั้นการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีใหม่นี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถนำพันธุกรรมดีที่กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ ในธรรมชาติ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์และเพื่อความชัดเจนจากวิธีการแบบเดิม จึงได้มีการตั้งชื่อวิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบนี้ว่า “การปรับปรุงพันธุ์โดยพันธุวิศวกรรม” และเรียกสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีนี้ว่า “สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม” หรือ “จีเอ็มโอ”
![]() |
![]() |
อ้างอิง ดร. บุญญานาถ นาถวงษ์, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ