การประชุมภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 4
(The Fifth Meeting of the Conference of the Parties to the Convention on Biological Diversity serving as the Meeting of the Parties to the Cartagena Protocol on Biosafety: COP-MOP 4)
มีขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคม พ.ศ.2551 ณ นครบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200 คน โดยเป็นผู้แทน จากประเทศภาคีพิธีสารฯ, รัฐบาลอื่นๆ, หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ, องค์กรระหว่างรัฐบาล, องค์กร พัฒนาเอกชน (NGOs), สถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมจากทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้ส่งผู้แทน จากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานกลางแห่งชาติของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เข้าร่วมการประชุม ที่ประชุมได้รับรองข้อมติ 18 ข้อ ว่าด้วย: คณะกรรมการปฏิบัติตามพิธีสารฯ (Compliance Committee), การดูแล, การขนส่ง, การบรรจุหีบห่อ และการจำแนกระบุ (HTPI) สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (LMOs), กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยทางชีวภาพ (BCH), การเสริมสร้างสมรรถนะ: เกณฑ์สำหรับการแจ้งให้ทราบ ข้อพิจารณาทางเศรษฐกิจ – สังคม, ความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ, ความตระหนักและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน, การวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง, การติดตามตรวจสอบและการรายงาน, กลไกและทรัพยากรการเงิน, ทะเบียน รายนามผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ, การวิเคราะห์ประเมินและการทบทวน, หน่วยงานที่ปรึกษา, การรับผิดและการชดใช้ และงบประมาณสำหรับพิธีสารฯ การประชุมครั้งนี้ เน้นที่การหารือในประเด็นการรับผิดและการชดใช้เป็นส่วนใหญ่ โดยที่สมัชชาภาคีพิธีสารฯ ยังไม่ได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการรับรองระบอบระหว่างประเทศว่าด้วยการรับผิดและการชดใช้ให้เสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะจัดทำและรับรองระบอบระหว่างประเทศฯ ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการจัดทำพิธีสารย่อย (supplementary protocol) ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมาย และเน้นในแนวทางเชิงบริหารจัดการ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อกำหนดในการรับผิดทางแพ่ง ซึ่งต้องใช้แนวทางในการรับผิดทางแพ่งที่ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายประกอบด้วย และที่ประชุมยังได้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจขึ้น เพื่อพิจารณาประเด็นการวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยง
รายละเอียดเพิ่มเติม >> [Th / Eng]