ผู้ผสมเกสร

        การผสมเกสรเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการสืบพันธของดอกไม้ เป็นกระบวนการที่ละอองเกสรตัวผู้ไปตกบนยอดเกสรตัวเมียซึ่งอาจจะอยู่ในดอกเดียวกันหรือต่างดอก สิ่งที่ช่วยในการผสมเกสรพืชมีอยู่หลายชนิด เช่น ลม แรงโน้มถ่วงของโลก และแมลง ตั้งแต่อดีตพืชพรรณมีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาโดยตลอดจนเกิดความหลากหลายแมลงนั้นก้ได้วิวัฒนาการตามพืชไปจนเกิดการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างพืชดอกกับแมลง ในปัจจุบันสภาพของโลกเปลี่ยนแปลงไป พบว่าพืชบางชนิดมีปัญหาในการผสมเกสร เช่น ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียบานไม่พร้อมกัน หรือไม่มีดอกตัวผู้ หรือภายในดอกเดียวกันมีเกสรทั้งสองเพศแต่เกสรตัวผู้เป็นหมันจึงต้องมีการศึกษาการนำแมลงมาช่วยพืชผสมเกสรเพื่อแก้ไขปัยหาเหล่านี้         

     ผู้ผสมเกสรมีความสำคัญมาก แต่การศึกษาวิจัยในภาครัฐของไทยไม่มีบุคคลให้ความสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านเงินทุนและเวลา ส่วนในต่างประเทศและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับแมลงผสมเกสรมาก โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช เช่น ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาด้านแมลงผสมเกสรจนก้าวหน้า มีการวางระบบนำผึ้งมาใช้ในการผสมเกสรมะเขือเทศและสตอเบอร์รี่

    ผู้ผสมผสมเกสร ได้แก่ กลุ่มผึ้ง เช่น ชันโรง ผึ้งป่า ผึ้งกัดใบ ผึ้งหลวง แมลงภู่ เป็นต้น กลุ่มต่อ แตน และมด (hornrts, wasps, family Vespidae, family Formicidae) กลุ่มผีเสื้อ (butterfly and moths) กลุ่มแมลงวันดอกไม้ (Hover files) เช่น แมลงันผึ้ง แมลงวันหัวเขียว แมลงวันบ้าน เป็นต้น กลุ่มด้วง เช่น แมลงนูน ด้วงผลไม้ ด้้วงถั่ว ด้วงงวง เป็นต้น กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว

 

  ความสำคัญของผู้ผสมเกสร
                    ผู้ผสมเกสรมีความสำคัญในการผลิตพืชสวนและอาหารสัตว์ ตลอดจนการผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกพืชที่มีหัวใต้ดินและพืชเส้นใย โดยผู้ผสมเกสร เช่น ผึ้ง นก และค้างคาวมีส่วนร่วมร้อยละ 35 ในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรของโลก และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชอาหารหลักที่สำคัญทั่วโลก ร้อยละ 87 ความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางอาหาร โภชนาการของมนุษย์ และราคาอาหาร ล้วนขึ้นอยู่กับผู้ผสมเกสร ผลสืบเนื่องจากการลดจำนวนลงของผู้ผสมเกสร อาจส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรที่มีวิตามินสูง เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะนำสู่ปัญหาการขาดสมดุลสารอาหารและสุขภาพการรักษาระดับและการเพิ่มผลผลิตพืชสวนภายใต้การพัฒนาทางการเกษตรมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพ โภชนาการ ความมั่นคงทางอาหาร และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ในอดีตการผสมเกสรเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยมนุษย์ไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ปัจจุบันพื้นที่ทางการเกษตรและการใช้สารเคมีทางการเกษตรมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลักฐานต่างๆ มากมายได้แสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างรุนแรงของประชากรผู้ผสมเกสรซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม

 

  ประโยชน์ของผู้ผสมเกสรกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

         ชนิดพืชของพืช

                 ดอกไม้ เช่น ลักษณะดอกและช่อดอก จำนวนเกสร

                 การดึงดูดแมลง เช่น ผลิตน้ำหวาน กลิ่นล่อแมลงและสีสรรของดอกไม้

                 ลักษณะการผสมเกสร เช่น ความต้องการผสมเกสรของพืช รูปแบบของการผสม เวลาที่ดอกบานกับเวลาทำงานของชนิดแมลงและชนิดของแมลงที่พืชต้องการ

        ชนิดของแมลงที่ช่วยในการผสมเกสร

        ลักษณะของสภาพแวดล้อม

 

อ้างอิง 1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. รายงานการประชุม เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร :
    ผู้ผสมเกสรและสิ่งมีชีวิตในดิน. 2552
  2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. รายงานการประชุมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่อง ความหลากหลาย
    ทางชีวภาพทางการเกษตร. 2552