โครงการ UNEP GEF Project on "Reversing Environmental Degradation Trends in the South China Sea and Gulf of Thailand" เป็นโครงการในระดับภูมิภาคทะเลเอเชียตะวันออก ซึ่งหน่วยประสานงานภูมิภาคทะเลเอเชียตะวันออกของโปรแกรมสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP East Asia Seas Regional Coordinating Unit : UNEP EAS/RCU) เป็นผู้ริเริ่มและประสานการดำเนินการในภูมิภาค ประเทศผู้รวมดำเนินโครงการมีจำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา จีน ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2549 โดยได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินโครงการจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility : GEF) จำนวน 16.749 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 753.71 ล้านบาท
เป้าหมายหลักของโครงการ คือ การจัดทำแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง และสนับสนุนให้มีการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลแบบบูรณาการในกลุ่มประเทศภูมิภาคทะเลเอเชียตะวันออกที่มีอาณาบริเวณติดต่อกับทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการจะอยู่ในรูปแบบของโปรแกรมการปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Programme) เพื่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลในภูมิภาคทะเลเอเชียตะวันออก โดยมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจง ตามลำดับ ความสำคัญของปัญหาเพื่อให้แต่ละประเทศสามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นผลได้ในระยะยาว
ในส่วนของประเทศไทย ได้กำหนดให้มีโครงการย่อยรวม 6 ด้าน ประกอบด้วย ป่าชายเลน ปะการัง หญ้าทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำ มลพิษจากแผ่นดิน และประมง โดยมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการที่ปรึกษาเฉพาะด้านรับผิดชอบดำเนินงานและจัดทำโปรแกรมการปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์เฉพาะในแต่ละด้าน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานงานด้านเทคนิคของโครงการ ทำหน้าที่ประสานและบริหารโครงการผ่านทางคณะกรรมการกำกับโครงการและคณะทำงานด้านเทคนิคของประเทศไทยที่แต่งตั้งขึ้นภายใต้โครงการ เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานตามโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคตามระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการกำกับโครงการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ กรมพัฒนาที่ดิน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และผู้แทนจังหวัดชายฝั่งทะเลที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมดำเนินโครงการ เป็นต้น ส่วนคณะดำเนินงานด้านเทคนิคฯ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเทคนิคในภาพรวมของประเทศ รวมทั้งการจัดทำโปรแกรมการปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ-สังคม กฎหมายสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมทางทะเล ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง 6 ด้าน และผู้แทนองค์กรเอกชน
อ้างอิง : ชัชชัย ศิลปสุนทร, นวรัตน์ ไกรพานนท,์ ศิริชัย เรืองฤทธิ์ และ ภัทรินทร์ แสงให้สุข. 2544. การดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม. สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ. 48 หน้า |