ระบบนิเวศหาดทราย
หาดทรายนับว่าเป็นระบบนิเวศที่รู้จักกันดีและพบได้ทั่วโลก และมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากหาดทรายเพื่อกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การประมง การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ การกระทำของคลื่นและลม ซึ่งมีบทบาทความสำคัญมาที่สุดต่อสิ่งมีชีวิตในหาดทราย และมีผลต่อขนาดของดินตะกอน ลักษณะของพื้นทะเล ความคงที่อยู่ตัวของหาด ปริมาณออกซิเจนและปริมาณอินทรีย์สาร หาดทรายจะมีขนาดของเม็ดทรายแตกต่างกันตามสถานที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ และฤดูกาล สิ่งมีชีวิตที่พบในหาดทราย ทั้งนี้ไม่ค่อยพบพืชขนาดใหญ่ แต่จะพบไดอะตอมที่อาศัยอยู่หน้าดินหรืออยู่ตามเม็ดทราย สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามหาดทรายจะมีความสามารถพิเศษในการฝังตัว เช่น ปูหนุมาน มีขาที่แบนเป็นใบพาย ช่วยในการว่ายน้ำและพุ้ยทรายฝังตัวเอง ไส้เดือนทะเล มีการสร้างหินปูน หรือพวกที่มีลำตัวอ่อนนุ่มจะมีอวัยวะช่วยในการขุดรู หอยเสียบจะมีเท้าขนาดใหญ่ช่วยในการฝังตัว หอยตลับจะมีเปลือกหนาแข็งแรง และจะยื่นท่อน้ำเข้าน้ำออกเหนือพื้นทรายในช่วงเวลาน้ำขึ้น เป็นต้น
อ้างอิง : สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
ระบบนิเวศหาดหิน
หาดหินเป็นลักษณะชายหาดที่ประกอบไปด้วยหินต่างๆ ในบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลง มักจะพบหาดหินตามเกาะต่างๆ หรือตามชายฝั่งทะเลที่เชื่อมติดต่อกับภูเขา จากการผุพังหรือการกัดเซาะของน้ำทะเล ทำให้เกิดซอกเล็กซอกน้อยอยู่มากมาย ทำให้หาดหินค่อนข้างที่จะพบสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากมาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้เป็นอย่างดี ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในบริเวณหาดหิน ได้แก่ อิทธิพลของคลื่นลม น้ำขึ้นน้ำลง ความร้อน ความแห้งแล้ง ส่งผลทำให้สิ่งมีชีวิตที่มาอาศัยอยู่ต้องมีการปรับตัวเอง ทั้งทางด้านรูปร่างและการยึดเกาะกับพื้นหินให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกพัดพาไปจากการซัดของคลื่น ตัวอย่างเช่น เพรียงหินและหอยนางรม จะยึดติดอยู่กับหินตลอดชีวิต และมีเปลือกหนาปิดได้สนิท เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำในร่างกายเมื่อเวลาน้ำลง พวกที่มีเส้นใยช่วยในการยึดเกาะ เช่น หอยแมลงภู่ ปูใบ้และปูหิน ซึ่งมีเปลือกหอยแข็งและหนา สาหร่ายเห็ดหูหนูและสาหร่ายบางชนิดต้องมีส่วนที่ยึดเกาะกับก้อนหิน ปูแมงมุมมีการพรางตัวให้มีลักษณะคล้ายกับก้อนหินรวมทั้งมีขาเรียวคม เพื่อเกาะกับก้อนหินได้มั่นคง ภายในหาดหินเมื่อเวลาน้ำลง ทำให้มีน้ำค้างอยู่ตามแอ่งหรือซอกต่างๆ เราเรียกแอ่งน้ำนี้ว่า แอ่งน้ำขึ้นน้ำลง (tide pool) พืชและสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแอ่งน้ำนี้ จะต้องมีการปรับตัวได้ดีมากต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น ออกซิเจนที่ลดน้อยลง และความเค็มที่เพิ่มขึ้น สัตว์ที่พบในแอ่งนี้ ได้แก่ ดอกไม้ทะเล หอยทะเล จำพวกหอยขี้นก สาหร่ายบางชนิด เพรียงหิน เป็นต้น
อ้างอิง : สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
ระบบนิเวศหาดโคลน
หาดโคลนเป็นบริเวณที่มีขนาดดินตะกอนเล็กมาก เนื่องจากคลื่นไม่รุนแรง ทำให้ดินตะกอนขนาดเล็กมากๆ ตกตะกอน (เป็นโคลน) เช่น บริเวณปากแม่น้ำ อ่าวที่มีกำบัง อ่าวปิด ทะเลสาบ (lagoon) เป็นต้น หาดโคลนเป็นหาดที่มีความชันน้อย หรือค่อนข้างราบมากกว่าหาดทราย เนื่องจากหาดโคลนมีดินตะกอนขนาดเล็กมาก รวมกับลักษณะของหาดไม่ชัน ทำให้น้ำในดินไหลไปยังบริเวณอื่นได้ยาก และถูกเก็บกักไว้ภายในดิน ตลอดจนมีแบคทีเรียอาศัยอยู่มาก ทำให้ปริมาณออกซิเจนในดินลดลง ทำให้บริเวณนี้ขาดออกซิเจน (anaerobic condition) ในบริเวณหาดโคลนยังมีอินทรีย์สารสูง ทำให้สิ่งมีชีวิตมาศัยอยู่ โดยมันต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เช่น ฝังตัวลงไปในโคลนหรือสร้างท่อ และอยู่ในท่อนั้น และปรับตัวทางด้านสรีระวิทยาต่อสภาพการขาดออกซิเจน โดยมีตัวจับออกซิเจนเพิ่มขึ้น เช่น ฮีโมโกบิน สิ่งมีชีวิตที่พบในหาดโคลนมีไดอะตอมมาอาศัยอยู่มากตามผิวดิน (benthic diatom) ซึ่งพวกนี้จะทำให้ดินมีสีน้ำตาลอมเหลือง และอาจมีสาหร่ายขนาดใหญ่บ้าง เช่น สาหร่ายสีแดง (Gracilaria) สาหร่ายสีเขียว (Ulva และ Enteromorpha) โดยสาหร่ายเหล่านี้มักขึ้นตามฤดูกาล และในบริเวณน้ำลงต่ำสุด ในดินส่วนใหญ่มีแบคทีเรียอาศัยอยู่ในชั้นที่ไม่มีออกซิเจน และยังพบไส้เดือนทะเล หอยปากเป็ด หอย ครัสเตเชียนขนาดเล็กและใหญ่ เช่น ปูชนิดต่างๆลักษณะการกินอาหารที่พบมีทั้งที่กินอินทรียสารในดิน เช่น ไส้เดือนทะเล หอยสองฝาบางชนิด และพวกที่กรองอาหารจากมวลน้ำ ได้แก่ หอยสองฝาบางชนิด ครัสเตเชียนและไส้เดือนทะเลบางชนิด โดยทั่วๆ ไปแล้ว พวกที่กินอินทรียสารในดินจะพบในดินตะกอนขนาดเล็ก ส่วนพวกที่กรองอาหารจากมวลน้ำจะพบในดินหยาบ ส่วนพวกที่กินเนื้อเป็นอาหาร ได้แก่ ปลา ไส้เดือนทะเลบางชนิด หอยฝาเดียว และปู ส่วนพวกกินพืชมีน้อย และพืชส่วนใหญ่จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยการแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ส่วนแบคทีเรียจะถูกกินโดยหนอนตัวกลม และพวกที่กินอินทรียสารในดิน ซึ่งทั้งสองจะถูกกินโดยสัตว์กินเนื้อ หอย ไส้เดือนทะเลบางชนิด รวมทั้ง ปลาและนก เป็นต้น
อ้างอิง : สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
ระบบนิเวศปากแม่น้ำ
บริเวณปากแม่น้ำหรือบริเวณน้ำกร่อย เป็นบริเวณที่น้ำจืดจากแม่น้ำไหลมาบรรจบกับทะเล ทำให้น้ำบริเวณนี้มีการเปลี่ยนแปลงของความเค็มอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามบริเวณนี้นับว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากแม่น้ำได้พัดพาเอาตะกอนแร่ธาตุ สารอาหารต่างๆ จากต้นน้ำลงมาด้วย ทำให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย นอกจากนี้แล้ว ในบริเวณนี้เรายังพบป่าชายเลนซึ่งมีพรรณไม้ต่างๆ เช่น ต้นโกงกาง แสม ลำพู ลำแพน เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อย และเป็นดินเลนได้เป็นอย่างดี ป่าชายเลนนี้นับว่ามีคุณประโยชน์มากมายต่อระบบนิเวศทางทะเล รากของต้นโกงกาง และแสมจะรุงรังซับซ้อน เพื่อช่วยยึดลำต้นที่เจริญอยู่บนดินเลน ทำให้มีช่องเล็กช่องน้อย เหมาะสมสำหรับการหลบซ่อนของสัตว์น้ำวัยอ่อน บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก รากของต้นไม้ยังช่วยดักดินตะกอนไม่ให้พัดพาลงสู่ทะเลมากนัก และเกิดเป็นแผ่นดินใหม่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ป่าชายเลนยังช่วยกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี ตัวต้นไม้ยังมีคุณค่าสูง โดยนำไปเผาถ่านที่มีคุณภาพ และสารสกัดทางเคมีสามารถนำไปใช้อุตสาหกรรมได้ เช่น แทนนิน ชาโปนิน เป็นต้น แต่เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่งที่ในปัจจุบัน บริเวณปากแม่น้ำและป่าชายเลนกำลังสูญเสียและเสื่อมโทรมลง โดยปัญหามลพิษต่างๆ จากแม่น้ำและการเปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงควรที่จะช่วยป้องกันรักษาเอาไว้ให้ดำรงอยู่ตลอดไป
สัตว์ที่พบในบริเวณปากแม่น้ำและป่าชายเลน มีความหลากหลายมาก ทั้งจำนวนชนิดและความหนาแน่นของประชากร โดยที่ทั้งพวกที่อยู่อย่างถาวรและที่อยู่ชั่วคราว การที่มีสัตว์อาศัยอยู่มากนั้น เนื่องจากบริเวณนี้มีแหล่งที่อยู่อาศัยมากมาย เช่น
- พวกที่อยู่อาศัยตามพื้นผิวดิน ได้แก่ ปลาดีน ปูเสฉวน หอยทะเลบางชนิด ฯลฯ
- พวกที่อยู่ตามใต้ผิวดิน รวมทั้งที่ขุดรูอยู่ ได้แก่ ไส้เดือนทะเล ปูแสม ปูก้ามดาบ กุ้งดีดขัน ฯลฯ
- พวกที่อาศัยอยู่ในน้ำ ได้แก่ กุ้งชนิดต่างๆ เช่น กุ้งตาแดง กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลากระบอก เป็นต้น รวมทั้งพวกที่อยู่ตามร่องน้ำ เช่น ปู ปลา กุ้ง งู จระเข้และกบ เป็นต้น
- พวกที่อยู่อาศัยตามต้นไม้ ใบไม้ รากโกงกาง ได้แก่ หอยนางรม ทากทะเล หอยขี้นก ปูแสม เพรียงหิน แมลง นกชนิดต่างๆ ตลอดจนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด เช่น ลิงแสม ค่าง อาศัยอยู่เพื่อใช้เป็นแหล่งผสมพันธุ์หรือวางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร
อ้างอิง : สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา |