โครงการการฟื้นฟูสภาวะแวดล้อมชายฝั่งหลังถูกทำลาย: การส่งเสริมการดำรงชีพอย่างยั่งยืนของชุมชนอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ความเป็นมา
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่ได้เปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบธรรมชาติเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนาซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ได้แก่ การทำลายพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่ง การเกิดมลภาวะทางน้ำ เนื่องจากการปล่อยน้ำเสียซึ่งปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรคลงสู่ชายฝั่งทะเล
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่นเดียวกับพื้นชายฝั่งทะเลแห่งอื่นๆ ของประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และเมื่อเวลาหยุดการเลี้ยงไปในช่วง พ.ศ. 2533 เนื่องจากการระบาดของโรคและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ประกอบกับทางรมาชการไม่อนุญาตให้ทำการเลี้ยงกุ้งในป่าชายเลน ส่งผลให้บ่อกุ้งในพื้นที่ถูกทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก
ระยะเวลาดำนินงาน
2 ปี ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 - เดือนเมษายน พ.ศ. 2554
กิจกรรมภายใต้โครงการ
- การฟื้นฟูป่าชายเลน
กิจกรรมการฟื้นฟูประกอบด้วยการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูป่าชายเลน การเสริมสร้างความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการจัดการป่าชายเลน และการฟื้นฟูป่าชายเลนโดยวิธีการปลูกและวิธีการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ
- การดำเนินการและการสาธิตโครงการเกี่ยวกับการดำรงชีพ
สนับสนุนงบประมาณสำหรับการประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพอย่างยั่งยืน โดยการประยุกต์ใช้แนวคิด Bio-right ซึ่งชุมชนจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในรูปของเงินยืมจำนวนหนึ่งสำหรับการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างรายได้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ชุมชนต้องจ่ายเงินยืมคืนในรูปของการดำเนินกิจกรรมการปกป้อง การฟื้นฟู หรือการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ป่าชายเลนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
- การจัดการป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วม
โครงการจะส่งเสริมให้เกิดการจัดการป่าชายเลนที่ได้รับการฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วม โดยการจัดตั่งกลุ่มการจัดการป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วม และการเสริมสร้างความรู้ความสามารถของสมาชิกกลุ่มในด้านการจัดการป่าชายเลนอย่างมีส่วนร่วม
- การเสริมสร้างจิตสำนึกในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
จัดทำสื่อและจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึก การเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโครงการ และการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าชายเลนในระดับภูมิภาค |