พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์พืช (Important Plant Area: IPA)

พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์พืช คือ พื้นที่ธรรมชาติ หรือ พื้นที่กึ่งธรรมชาติ ที่ประกอบไปด้วย ความมากมายทางพฤกษศาสตร์ และ/หรือ มีพืชหายาก พืชถูกคุกคาม และ/หรือ พืชเฉพาะถิ่น และ/หรือ สังคมพืชที่มีคุณค่าทางพฤกษศาสตร์สูง หรืออาจจะเป็นการพิจารณาจากสังคมพืชที่มีคุณค่าทางพฤกษศาสตร์ คือ ความโดดเด่นต่อความหลากหลายของพืช ในเงื่อนไขที่นำมา หรือเลือกพื้นที่จึงมีหลายเกณฑ์ และเงื่อนไขที่นำมาคัดเลือกพื้นที่

หลักเกณฑ์ของการพิจารณาพื้นที่ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

  • เกณฑ์ A พืชถูกคุกคาม (Threatened species) พื้นที่ที่แสดงถึงจำนวนประชากรของพืชที่ถูกประเมินสถานภาพ ในระดับโลก หรือภูมิภาค ซึ่งอาจพบพืชหนึ่งชนิดหรือมากกว่าหนึ่งชนิด แบ่งออกได้เป็น 4 ระดับคือ
  • A1 เป็นพืชที่ถูกคุกคามในระดับโลกตามทะเบียนของ IUCN
  • A2 เป็นพืชที่ถูกคุกคามในระดับภูมิภาคตามทะเบียนของ IUCN
  • A3 เป็นพืชเฉพาะถิ่นที่ไม่ถูกประเมินในระดับโลกหรือภูมิภาค แต่เป็นระดับประเทศ
  • A4 เป็นพื้นที่ที่ปรากฏชนิดพันธุ์พืชกึ่งเฉพาะถิ่นหรือมีการกระจายจำกัด
  • เกณฑ์ B ความมากมายทางพฤกศาสตร์ในระดับภูมิภาคที่สำคัญต่อเขตชีวภูมิศาสตร์
  • เกณฑ์ C ถิ่นที่อยู่ถูกคุกคาม พื้นที่ที่เป็นตัวแทนของถิ่นที่อยู่หรือสังคมพืชที่ควรอนุรักษ์ และมีความสำคัญ ทางพฤกศาสตร์ในระดับโลกหรือภูมิภาค

พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์พืชบริเวณทะเลและชายฝั่งในประเทศไทยในปัจจุบัน มีจำนวน 12 แห่ง ได้แก่

  • เกาะสุรินทร์ ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี(เกาะสต๊อร์ค) เกาะไข่(เกาะดอรินลา) และเกาะกลาง(เกาะจุมบา) มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1 A3 และ C เนื่องจากชนิดพืชพรรณเด่น พืชหายาก และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ เช่น สยาหิน กาลอ กระบากดำ เต็งตานี ตะเคียนเต็ง และสักปีก เป็นต้น
  • เกาะอ่างทอง ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะในอ่าวไทยประกอบด้วยเกาะต่างๆ 42 เกาะ เช่น เกาะพะลวย เกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะหินดับ เกาะนายพุด และเกาะไผ่ลวก เป็นต้น ในตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งพื้นที่ IPA แห่งนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A3 และ C เนื่องจากมีพืชหายาก และพรรณไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ รวมทั้งมีสังคมพืชที่ถูกคุกคามลักษณะพรรณพืชตามธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น พลอง จิกเขา รักเขา หูกวาง โพทะเล จันทน์ผา สลัดได ยอป่า และโกงกางใบเล็ก เป็นต้น
  • เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ตั้งอยู่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีสภาพพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ป่าเขาลำปี มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ และชายหาดท้ายเหมือง เป็นหาดทรายขาว มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1 A3 และ C เนื่องจากชนิดพืชพรรณเด่น พืชหายาก และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง กระบาก เทพทาโร ปุด หวายกำพวน ไผ่ กล้วยป่า ผักกูด และ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู แสมขาว สนทะเล จิกเล หูกวาง หยีทะเล ปอทะเล สาบเสือ ปรงทะเล เตยทะเล เกล็ดนาคราช และเฟินก้ามปู เป็นต้น
  • หาดเจ้าไหม ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทางฝั่งทะเลอันดามัน ประกอบด้วยภูเขาสูงชัน ชายหาด และเกาะแก่ง รวม 9 เกาะ โดยทั่วไปเป็นภูเขา ป่าชายหาด และป่าชายเลน ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1 A3 และ C สภาพป่าประกอบด้วยป่าบกและป่าเลน มีพันธุ์ไม้ เช่น ไม้ตำเสา เคี่ยม แดงควน ยาง หลุมพอ ตะเคียน เสม็ด สนทะเล หูกวาง หลุมพอทะเล และตาตุ่ม เป็นต้น
  • อ่าวพังงา (หมู่เกาะหินปูน) เป็นพื้นที่ IPA ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1 A3 และ C เนื่องจากชนิดพืชพรรณเด่น พืชหายาก และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ พบพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว ต้นจาก เหงือกปลาหมอ ตะบูนขาว ลำแพน แสม ฝาด เสม็ด ขี้หนอน เหรียง ชุมเห็ด เต่าร้าง ลำเพ็ง เขากวาง พังกา สะตอ ไผ่ป่า ปาล์ม และว่านชนิดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบสังคมพืชน้ำ จำแนกได้เป็น สาหร่ายสีน้ำตาล สีแดง สีเขียว หญ้าทะเล และแพลงก์ตอนพืชจำนวนมากมาย
  • เกาะช้าง-เกาะกูด พื้นที่ IPA นี้เป็นสภาพทั่วๆ ไปของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ประกอบด้วย เกาะใหญ่น้อยอยู่ทางฝั่งทะเลอ่าวไทยกว่า 40 เกาะ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1, A3 และ C เนื่องจากสภาพป่ามีความหลากหลายของพืชพรรณมาก ส่วนใหญ่เป็น ป่าดงดิบชื้น เป็นป่าที่ค่อนข้างห่างจากชายฝั่ง พืชพรรณธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นไม้สกุลพลอง สารภีป่า และไม้ในสกุลหว้า ขึ้นปนอยู่ประปราย พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางนา กระบาก ตะเคียนทอง ทะโล้ พญาไม้ เปล้า หลาวชะโอน เต่าร้าง หวาย เตยย่าน กล้วยไม้ ไผ่ เร่ว และกระวาน เป็นต้น
  • ทะเลบัน ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน อำเภอควนโดน และอำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1, A3 และ C เนื่องจากชนิดพืชพรรณเด่น  พืชหายาก  และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ พบพันธุ์ไม้หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ยางปาย ยางแดง ตะเคียนทอง พะยอม ไข่เขียว กระบาก สยา ทุ้งฟ้า มะม่วงป่า จวง แซะ เต่าร้าง หมากพน หวายเล็ก หวายกำพวน กระโดน ปออีเก้ง โมกมัน ประสัก ตีนเป็ดทะเล เป้งทะเล เทียนนา บอน บากง ผักบุ้ง ไผ่ไร่ ไผ่หลอด สาคู กล้วยไม้ป่า และหญ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น
  • เขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติถึง 605 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งพื้นที่ IPA แห่งนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A3 และ C เนื่องจากพื้นที่ที่มีพืชเฉพาะถิ่นขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ และเป็นลักษณะสังคมพืชที่ถูกคุกคาม พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น โมกเขา กระดูกไก่ขาว และโนรีปราณ เป็นต้น
  • เกาะตะรุเตา ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทยทางฝั่งทะเลอันดามัน พื้นที่ IPA มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A3 และ C เนื่องจากพบพรรณพืชหายาก และพรรณไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น หงอกค่าง ยางปาย ยาง รักขาว รักป่า สะแกแสง เสม็ดขาว รักทะเล จิกน้ำ ตีนเป็ดเล็ก กะลิง เหงือกปลาหมอดอกม่วง ตีนเป็ดทะเล แคทะเลหรือแคป่า ส้านใหญ่ และไกรทอง เป็นต้น
  • เกาะลิบง ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง ตำบลลิบง จังหวัดตรัง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในทะเลตรัง มีพื้นที่ 25,000 ไร่ รอบๆ เกาะเต็มไปด้วยหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของพะยูน ซึ่งพื้นที่ IPA แห่งนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย C เนื่องจากเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญ และมีการบุกรุกพื้นที่ป่าบางส่วนเพื่อก่อสร้างสถานที่พักตากอากาศ สำนักสงฆ์ และขยายพื้นที่ทางเกษตรกรรม และการเก็บหาพืชสมุนไพร การลับลอบเก็บไม้หอม การลักลอบเก็บกล้วยไม้ และไฟป่าที่เกิดจากการล่าสัตว์
  • เกาะเภตรา ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่ IPA ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A3 และ C เนื่องจากชนิดพืชเฉพาะถิ่นที่และสังคมพืชที่ถูกคุกคามพบได้ในพื้นที่ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ตะเคียนหิน ตะเคียนทราย ยาง สาวดำ มะม่วงป่า พะยอม แคฝอย อินทนิล กระโดน ส้มเสี้ยว กระทิง ปอทะเล หูกวาง กาหยี และจิกเล เป็นต้น
  • ป่าชายเลนระนอง ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลจังหวัดระนอง ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหงาว และบางส่วนของตำบลปากน้ำ ตำบลบางริ้น และตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง พื้นที่ IPA แห่งนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์วินิจฉัย A1, A3 และ C เนื่องจากชนิดพืชพรรณเด่น พืชหายาก และไม้เฉพาะถิ่นที่สามารถพบได้ในพื้นที่  ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุดเป็นชนิดไม้ที่อยู่ในวงศ์ Rhizophoraceae

อ้างอิง  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม