ป่าชนิดนี้จำแนกตามสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม ลักษณะดินและพรรณพืชคลุมดิน เป็นป่าที่ปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่ดินเป็นดินทรายจัด น้ำทะเลท่วมไม่ถึง หรือบริเวณหาดทรายเก่าที่ยกตัวสูงขึ้น หรือบริเวณที่เป็นหินชิดฝั่งทะเล ดินค่อนข้างเค็มและที่สำคัญคือมีไอเค็ม (salt spray) จากทะเลพัดเข้าถึง พรรณพืชส่วนใหญ่ของป่าชนิดนี้เป็นพืชทนเค็ม (halophytes) และคดงอด้วยแรงลม ป่าชายหาดปรากฏอยู่ทั่วไปตามชายทะเลที่เป็นหาดทรายเก่าน้ำท่วมไม่ถึงทั้งชายฝั่งภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชลบุรีลงไปถึงจังหวัดตราด และทางภาคใต้แถบฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยจากจังหวัดเพชรบุรีลงไปจนต่อเขตแดนประเทศมาเลเซียรวมถึงเกาะต่าง ๆ ในอ่าวไทยด้วย ในทางฝั่งตะวันตกมีพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปจนถึงจังหวัดสตูล รวมทั้งหมู่เกาะน้อยใหญ่ในทะเลอันดามันด้วย โดยเฉพาะเกาะตะรุเตามีป่าชายหาดที่สวยงามและค่อนข้างสมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง เนื่องจากปัจจัยกำหนดทำให้ป่าชายหาดมีการกระจายขาดเป็นตอน ๆ บางพื้นที่สลับกับป่าชายเลนและบางพื้นที่สลับกับป่าดงดิบหรือสังคมผาหิน เนื่องจากสังคมป่าชนิดนี้ต้องอยู่ชิดทะเลจึงถูกทำลายและเปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้านเมืองและชุมชนจนเกือบหมดสิ้น คงเหลือให้เห็นเป็นหย่อมเล็ก ๆ ที่มีสภาพเสื่อมโทรมเป็นส่วนใหญ่
พันธุ์ไม้และลักษณะโครงสร้างของป่าชายหาด องค์ประกอบของพันธุ์ไม้และลักษณะโครงสร้างของป่าชายหาดแปรผันไปตามปัจจัยแวดล้อมในแต่ละท้องที่ ต้นไม้โดยทั่ว ๆ ไปมีลักษณะเป็นพุ่มลำต้นคดงอและแตกกิ่งก้านมาก กิ่งสั้น ใบหนาแข็ง ประกอบด้วยไม้ใหญ่น้อยส่วนมากเป็นไม้หนามขนาดไม้พุ่มและเถาวัลย์ ชายฝั่งที่เป็นดินทรายจัดทางตอนใต้ของภาคใต้อาจพบสังคมสนทะเล (Casuarina equisetifolia) สังคมชนิดนี้มักก่อตัวในหาดทรายที่เกิดใหม่และมีไม้สนทะเลเด่นนำแต่เพียงชนิดเดียว ในสภาพฝั่งทะเลที่เป็นหินโดยเฉพาะตามเกาะต่าง ๆ เป็นสังคมของรังกะแท้ (Kadelia candel) ตะบูน (Xylocarpus granatum) หูกวาง (Terminalia catappa) โพธิ์ทะเล (Hibiscus tiliaceus) มะนาวผี (Atalantia monophylla) และกระทิง (Calophyllum inophyllum) ไม้เหล่านี้มีความสูงไม่มากและลำต้นคดงอด้วยแรงลมแต่มีเรือนยอดที่ต่อเนื่องกันโดยตลอดและแน่นทึบจนจรดดิน (Smitinand, 1977a) พื้นป่ามักโล่งเตียนเนื่องจากดินที่เป็นทรายจัดและถูกปกคลุมด้วยใบสนหนา ไม้พื้นล่างที่อาจพบบ้างได้แก่ ผักบุ้งทะเล (Poemoea pescaprae) หญ้าลอยลม (Spinifex littoreus) และถั่วคล้า (Canallia rosea) พืชเหล่านี้เป็นพืชเลื้อยชิดดินแสดงถึงการรุกล้ำเข้ายึดหาดทรายเพื่อการทดแทนตามธรรมชาติ รากที่งอกตามข้อช่วยยึดทรายและเป็นที่ฝากเมล็ดไม้อื่นต่อไป
ระบบนิเวศของป่าชายหาด โดยทั่วไปมีผลผลิตขั้นมูลฐานค่อนข้างต่ำทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องความเค็มของดิน ปริมาณธาตุอาหารพืชในดินที่มีอยู่น้อย และสภาพดินที่เก็บความชื้นไว้ได้ไม่นาน ฉะนั้นพืชส่วนใหญ่จึงเจริญเติบโตได้ช้า และจากไอเค็มที่พัดเข้ามาจากทะเลและความรุนแรงของลมพายุทำให้ไม้ใหญ่หักโค่นได้ง่าย การหมุนเวียนของพลังงานในระบบนิเวศของป่านี้โดยพื้นฐานแล้วเป็นไปได้ในอัตราที่รวดเร็ว เนื่องจากปัจจัยหลายประการค่อนข้างเหมาะสมคือ ปริมาณพลังงานที่ตกลงบนพื้นที่ต่อปีมีอยู่อย่างมากพืชสามารถนำไปใช้ได้อย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิอยู่ในช่วงที่พืชสามารถสังเคราะห์แสงได้ตลอดปี ความชื้นในบรรยากาศค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามการขาดแคลนน้ำในดินมักเป็นตัวกำหนดในการสังเคราะห์แสงของพืช การสลายตัวของซากพืชซากสัตว์มักเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิที่ค่อนข้างร้อนและความชื้นของบรรยากาศที่ค่อนข้างสูงในช่วงฤดูฝน จึงทำให้จุลินทรีย์และราสามารถทำลายซากพืชและสัตว์ให้สลายโดยสมบูรณ์ได้ภายในเวลารวดเร็ว ปัญหาที่มักเกิดขึ้นก็คือซากของใบสนทะเลที่มีการผุสลายช้าและปกคลุมดินค่อนข้างหนาเป็นการสกัดกั้นการสืบต่อพันธุ์ของไม้ชนิดอื่น ๆ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดไฟผิวดินขึ้นได้
อ้างอิง : http://cyberlab.lh1.ku.ac.th/elearn/faculty/forest/fo22/chap8/c8-1.htm
|