สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล (Coastal Zone Environmental and Resource Management Project : CZERMP) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศออสเตรเลียกับประเทศในกลุ่มอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกาารพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน โดยก่อตั้งศูนย์ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment and Resourec Information Centre) ในแต่ละประเทศขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเชื่อโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวช้องกับการจัดทำระบบข้อมูล โดยมุ่งเน้นการนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) และระบบช่วยการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจของผู้บริหารในการจัดการชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยได้เลือกพื้นที่อ่าวพังงาซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่เป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของทรัพยากรชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันพื้นที่ใกล้เคียงอ่าวพังงามีการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อป่าชายเลน ชายหาด ปะการัง และระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น จึงได้กำหนดกรณีศึกษาในการพัฒนาบริเวณอ่าวพังงาเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจจะต้องมีข้อมูลเพียงพอและมีประสิทธิภาพเพื่อตัดสินใจในการเลือกที่ตั้งท่าเรือที่เหมาะสม
อ้างอิง : ชัชชัย ศิลปสุนทร, นวรัตน์ ไกรพานนท,์ ศิริชัย เรืองฤทธิ์ และ ภัทรินทร์ แสงให้สุข. 2544. การดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม. สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ. 48 หน้า |