การดำเนินงานของคณะทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค (APEC MRC WG)

บทนำ

     ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคของโลก กลุ่มความร่วมมือภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) จึงได้จัดตั้งคณะทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค (APEC Marine Resource Conservation Working Group : APEC MRC WG) ขึ้นในปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อเอื้อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศสมาชิประกอบด้วยประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวน 21 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

หน้าที่รับผิดชอบ

     คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค มีหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นชอบต่อแผนงานและโครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในกลุ่มประเทศสมาชิกของเอเปค รวมทั้งการกำหนดมาตรการและท่าทีในด้านการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศสมาชิกและการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในภูมิภาคตลอดจนเสนอแนะมาตรการและนโยบายต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคตามลำดับ

ประเทศผู้ประสานงานหลัก (Shepherds)

     ประเทศผู้ประสานงานหลัก มีหน้าที่ประสานการดำเนินงานในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ไทย และ จีนไต้หวัน

หัวหน้าคณะผู้ประสานงานหลัก (Lead Shepherds)

     ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีมติเห็นชอบให้มีการหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้ประสานงานหลัก โดยมีวาระปฏิบัติงานครั้งละ 2 ปี และจนถึงปัจจุบันมีผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้ประสานงานหลักจำนวน 5 ท่าน ดังนี้ (ข้อมูลถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544)

ชื่อ-สกุล ประเทศ ระยะเวลา
Mr. J. Roderick Forbes แคนาดา พ.ศ. 2537-2539
ดร. อัมพร พินธุกนก ไทย พ.ศ. 2539-2541
Dr. Chea-Yuan Yong จีนไต้หวัน พ.ศ. 2541-2543
Dr. Gwo-Dong Roam จีนไต้หวัน พ.ศ. 2543-2544
Ms. Alison Russell-French ออสเตรเลีย พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ

  • ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในฐานะประเทศสมาชิก ซึ่งสามารถเสนอแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลในภูมิภาคเอเปคเพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุนกลางของเอเปค (APEC Central Fund)
  • ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะและการกำหนดบทบาท ท่าที และการประสานนโยบายด้านการค้า การลงทุน และการประมง รวมทั้งการพิจารณาการจัดใช้ทรัพยากรทางทะเลในระดับประเทศและระดับภูมิภาคซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลร่วมกันในอนาคต
  • การเข้าร่วมในคณะทำงานฯ มีส่วนช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทั้งทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางทะเลของกลุ่มประเทศสมาชิกก่อนนำเสนอที่ประชุมระดับอาวุโส ระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำเอเปคเพื่อกำหนดเป็นนโยบายรวมของประเทศสมาชิกต่อไป

การประชุมคณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค

     คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค กำหนดให้มีการประชุมปีละ 1 ครั้ง สำหรับประเทศไทย สำนังกงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ประสานงานของประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยตั้งแต่เริ่มจัดตั้งคณะทำงานฯ จนกระทั่งปัจจุบันมีการประชุมมาแล้วรวามทั้งสิ้น 14 ครั้ง (ข้อมูลถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544)

ครั้งที่ สถานที่ ระยะเวลา
1 เมือง Vancouver ประเทศแคนาดา วันที่ 20-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2533
2 ประเทศสิงคโปร์ วันที่ 21-22 สิงหาคม พ.ศ. 2534
3 เมือง Sidney บริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา วันที่ 6-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
4 กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2535
5 เมือง Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 18-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2536
6 เมือง Sidney บริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา วันที่ 11-13 เมษายน พ.ศ. 2537
7 เมือง Qingdao ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 29-31 พฤษภาคม พ.ศ. 2538
8 เมือง Kaohsiung จีนไต้หวัน วันที่ 23-25 เมษายน พ.ศ. 2539
9 จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย วันที่ 25-27 กันยายน พ.ศ. 2539
10 เมือง Pusan ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี วันที่ 26-28 พฤษภาคม พ.ศ. 2540
11 เมือง Vina del Mar ประเทศชิลี วันที่ 2-4 มิถุนายน พ.ศ. 2541
12 เมือง Cairns ประเทศออสเตรเลีย วันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
13 เมือง Lima ประเทศเปรู วันที่ 7-10 มิถุนายน พ.ศ. 2543
14 จีนฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 15-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2544

กิจกรรมภายใต้คณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค

ปี กิจกรรม ระยะเวลา/สถานที่ ผลลัพธ์
พ.ศ. 2539 Workshop on Integrated Management of Semi-Enclosed Bay วันที่ 2-3 กันยายน พ.ศ. 2539
ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
  • พัฒนารูปแบบการจัดการแบบบูรณาการสำหรับอ่าวกึ่งปิดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค
พ.ศ. 2540 Workshop on the Impact of Destructive Fishing Practices on the Marine Enviroment วันที่ 16-18 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ณ จีนฮ่องกง
  • จัดทำรายการจำแนกชนิดปลาที่อาศัยในแนวปะการัง และปลาที่เพาะเลี้ยงเพื่อการค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบประเภทปลาเพื่อการนำเข้าและส่งออกรวมทั้งการป้องกันการจับปลาประเภทปลาสวยงาม การจับลูกปลาและการจับปลาในแนวปะการัง โดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย
  • มีการควบคุมการใช้เครื่องมือและการทำการประมงที่ผิดวิธี เช่น การใช้วัตถุระเบิด สารพิษ และเครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม
  • กำหนดรหัสทางการค้าสำหรับจำแนกประเภทและชนิดของปลา และสัตว์น้ำต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง เพื่อนำไปใช้ติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลในอนาคต
พ.ศ. 2541 Workshop on the Regional Implementation of the Global Programme of Action for the Protection of the Marine Enviromenta from Land-based Activities วันที่ 14-16 เมษายน พ.ศ. 2541
ณ เมือง Townsville ประเทศออสเตรเลีย
  • พัฒนาคู่มือการดำเนินการเพื่อการจัดการและการป้องกันปัญหามลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษบนบก
  • กำหนดมาตรการและควบคุมปัญหาและมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษบนบก ตลอดจนพิจารณาแนวทางความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังตามเป้าหมายการดำเนินงานตามโปรแกรมการปฏิบัติในระดับโลก (Global Programme of Action : GPA)
  Workshop on Working together on Preventing Ship Based Pollution in the Asia-Pacific Region วันที่ 20-23 เมษายน พ.ศ. 2541
ณ เมือง Townsville ประเทศออสเตรเลีย
  • กำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเพื่อเป็นกรอบในการจัดการมลพิษทางทะเลจากการเดินเรือ การขนส่งทางน้ำ และจัดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงานจากผลกระทบของเรือต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล
  Workshop on Decommissioning of offshore Oil and Gas Platforms วันที่ 27-29 ตุลาคม พ.ศ. 2541
ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
  • กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางทะเลที่ทิ้งร้างเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลและเป็นแนวปะการังเทียม
พ.ศ. 2542 APEC Conference on Sustainability of the Marine Enviroment : What can the Private Sector Do?

วันที่ 1-3 กันยายน พ.ศ. 2542
ณ เมือง Kaohsiung จีนไต้หวัน

  • จัดทำแนวทางให้มีการสนับสนุนบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน
พ.ศ. 2543 APEC Round Table on Action Strategies and Work Programs for Private-Public Sector Partnership on Sustainability of Marine Enviroment วันที่ 11-12 เมษายน พ.ศ.2543
ณ กรุงไทเป จีนไต้หวัน
  • จัดทำ Action Strategies and Work Programs : Engaging the Private Sector in Sustainable Management of Marine Resources on the APEC Region นำเสนอคณะทำงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปคเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 13
  The Fourth Sterring Committee Meeting on Ocean Models and Information Systems for APEC Region วันที่ 27-28 เมษายน พ.ศ. 2543
ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  • ให้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "Circulation and Transportation Models" โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการกฎหมายทะเลแห่งเอเชียอาคเนย์ (SEAPOL) ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
  Workshop on the Prevention of Marine Pollution in the Asia-Pacfic Region วันที่ 8-12 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
ณ เมือง Townsville ประเทศออสเตรเลีย
  • จัดทำกลยุทธ์ รวมทั้งข้อตกลงในระดับภูมิภาคสำหรับการจัดการของเสียและมลพิษทางทะเลจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางทะเลประเภทต่างๆ อาทิ การเดินเรือ กิจการท่าเรือ และแหล่งมลพิษบนบก เป็นต้น
  Workshop on Integrated Oceans Management in the APEC Region วันที่ 12-15 ธันวาคม พ.ศ. 2543
ณ เมือง Vancouver ประเทศแคนาดา
  • จัดทำกิจกรรมเพื่อรองรับการดำเนินการสำหรับการจัดการมหาสมุทรแบบบูรณาการ
พ.ศ. 2544 APEC Roundtable Meeting on the Involvement of the Bussiness Private Sector in the Sustainability of the Marine Enviroment วันที่ 11-12 ตุลาคม พ.ศ. 2544
ณ เมือง Kaohsiung จีนไต้หวัน
  • แลกเปลี่ยนข้อมูล เสนอแนะลู่ทางอนาคต สำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างยั่งยืน
  Workshop on Development of a Management Framework for APEC Economies for use in the Control and Prevention of Introduced Marine Pests วันที่ 12-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
ณ เมือง Hobart ประเทศออสเตรเลีย
  • รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ Marine Pests เพื่อช่วยป้องกันสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

แผนปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเอเปค (APEC Action for Sustainability of the Marine Enviroment)

     แผนปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเอเปค จัดทำขึ้นเพื่อสนองตอบวิสัยทัศน์ของคณะรัฐมนตรีเอเปค ในการดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทร แผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดเป้าหมายและกิจกรรม โดยผ่านกระบวนการประสานงาน การเชื่อมโยงระหว่างคณะทำงานต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติ

     แผนปฏิบัติการฯ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเอเปคเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยมีสาระสำคัญสรุป ได้ดังนี้

          วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

               1. สนับสนุนการจัดการด้านชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ

               2. ส่งเสริมการป้องกัน การลดและควบคุมมลพิษทางทะเล

               3. เกิดการจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

          เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ

               1. การวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี และความชำนาญ

               2. การเสริมสร้างสมรรถนะ การศึกษา และการฝึกอบรม

               3. การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและสาธารณชน

 

อ้างอิง : สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม. 2544. การดำเนินงานของคณะทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของเอเปค. บริษัท อินทิเกรเต็ด โปรโมชัน เทคโนโลยี จำกัด. 24 หน้า.